ED4DEA8B8735755C6EA2BC5CCF774F7D Affiliater Newbies

Internet Marketer News

กฎทองในการตั้งชื่อโดเมน

ทำเงินบนโลกไอทีสัปดาห์นี้ยังคงว่าด้วยเรื่องการลดต้นทุน หลายคนอาจจะงงว่าการตั้งชื่อโดเมนเนมจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร คำตอบคือหากชื่อโดเมนเว็บไซต์ของเราจำง่ายและเหมาะสม ก็จะทำให้เราประหยัดพลังเงินและพลังงานในการทำ SEO หรือการทำชื่อโดเมนเนมให้ติดอันดับผลการสืบค้นของเสิร์ชเอนจิ้นได้ ***ลดรายจ่ายในธุรกิจไอที - เลือกชื่อโดเมนให้เหมาะกับธุรกิจ (บทความโดย ภาคภูมิ ไตรพัฒน์ www.thnic.co.th) ผมนั่งดูสถิติจำนวนผู้จดโดเมน .th ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสิ้นปีที่แล้วถึงปีนี้ ดูเหมือนว่ากระแสความตกต่ำทางเศรษฐกิจในประเทศจะส่งผลตรงข้ามกับธุรกิจออนไลน์ น่าจะเป็นไปได้ว่ามีการอพยพหนีกระแสลบจากธุรกิจออฟไลน์ เข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ที่คงจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่งเพื่อกู้สถานการณ์ตอนนี้ สาเหตุที่ธุรกิจออนไลน์พากันเจริญเติบโต อันเนื่องมาจากต้นทุนที่ต่ำกว่าธุรกิจแบบทั่วไปมาก ที่เห็นได้ชัดอย่างแรกเลยคือ ไม่ต้องไปหาเช่าอาคารพาณิชย์ 2 คูหาห้องมุม ติดย่านธุรกิจ เพื่อจะเปิดเป็นหน้าร้านหรือโชว์รูม ซึ่งราคาก็คงอยู่ที่หลายล้านบาท จนไปถึงหลายสิบล้านบาท สู้มาเปิดหน้าร้านออนไลน์ เสียค่าจดโดเมน ค่าเช่าโฮสต์ แถมด้วยค่าออกแบบเว็บไซต์แทนที่จะไปเสียค่าตกแต่งร้าน รวม ๆ แล้วน่าจะอยู่ในเกณฑ์หลักหมื่น หรือแสน ก็แล้วแต่ความหรูหราของเจ้าของร้าน แต่ที่แน่นอนลดต้นทุนแรกเริ่มลงไปได้โขทีเดียว อันดับต่อไปคงเป็นเรื่องของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ร้านเราให้คนรู้จัก ตอนนี้เราไม่มีห้องหัวมุมในแหล่งชุมชน แต่เราก็ยังต้องการคนมาเดินผ่านหน้าร้านเราอยู่ดี เหล่านี้คงต้องพึ่ง Search Engine และการทำ SEO (Search Engine Optimization) เพื่อให้หน้าร้านเราเข้าไปอยู่ในอันดับต้น ๆ เพื่อให้คนผ่านตาและพร้อมที่คลิ้กเข้ามา แล้วแทนที่เราจะเอาแผ่นพับไปแจก เอาโปสเตอร์ไปติด ไปเช่าเวลาไม่กี่วินาทีในโทรทัศน์วิทยุ มาทำโฆษณา ซึ่งสนนราคาเป็นแสนกันเลยทีเดียว เราก็สร้างลิงค์ ติดแบนเนอร์ ตามเว็บไซต์ที่มีกลุ่มลูกค้าเราอยู่ ดูน่าจะเป็นวิธีที่ประหยัดกว่ามาก ทีนี้หันมาดูทางด้านโดเมน เมื่อทำธุรกิจออนไลน์ โดเมนก็เปรียบเสมือนชื่อร้าน ชื่อร้านที่ลูกค้าเราจะจำเราได้ ซึ่งจะเป็นชื่อร้านที่เหล่า search engine เช่น Google หรือ Yahoo จะรู้จักเรา และดึงหน้าร้านของเราไปแสดงผ่านสายตาลูกค้า การมีชื่อร้านที่เหมาะสมก็จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระได้มากทีเดียว อย่างไรหรือครับ ขออธิบายอย่างนี้ครับ เมื่อชื่อเป็นที่เข้าใจได้ของผู้พบเห็น เช่นเกี่ยวกับสินค้าที่เราขาย ก็ง่ายต่อการจดจำของลูกค้า จากนั้นการจะสร้างแบรนด์จากชื่อโดเมนก็ไม่ใช่เรื่องยาก จะเอาชื่อโดเมนเราไปแปะไว้ตรงไหน ก็ง่ายที่คนจะจำได้ และลูกค้าก็ง่ายที่จะกลับมาใช้บริการเราอีก ยิ่งไปกว่านั้นหากชื่อโดเมนเราง่ายต่อการเข้าใจของ search engine ด้วยแล้ว ก็จะทำให้เราประหยัดพลังในการทำ SEO ลงไปได้ด้วย ทีนี้ก็มาลองดูกันซิครับ ว่าเทคนิคและขั้นตอนที่จะช่วยในการเลือกโดเมนที่ผมเรียกว่า “เหมาะสม” มันควรจะมีอะไรบ้าง 1.เริ่มด้วยการมองธุรกิจตัวเองครับ ว่าเราขายอะไร แล้วเขียนคีย์เวิร์ดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องออกมาครับ รวมทั้งคำต่าง ๆ ที่จะอยู่ในเว็บไซต์ของเรา หรือแม้แต่คำหรือคีย์เวิร์ดที่อยู่ในเว็บไซต์อื่นที่ทำธุรกิจเดียวหรือใกล้เคียงกับเรา 2.จากนั้นเอาคำเหล่านั้นมาเลือก โดยให้คะแนนตามคุณสมบัติดังนี้ครับ 2.1สั้น 2.2จำง่าย 2.3ไม่งง 2.4พิมพ์ผิดยาก 2.5ตรงกับธุรกิจหลักของเรา 2.6ออกเสียงได้ 2.7ความหมายในทางกว้าง หรือ เฉพาะเจาะจง เช่น เราทำเว็บเกี่ยวกับรถ ควรเลือกคำว่า CAR หรือหากเราจะทำเว็บรถฟอร์ด ก็ควรจะเลือกคำว่า FORD และอยากให้สังเกตนิดครับว่า คำที่ “สั้น” ไม่ใช่คำที่ “จำได้ง่าย” เสมอไป เช่นเราต้องการใช้คำว่า “This Name Is Good Oh My God” ลองพิจารณาดูครับว่าระหว่าง 2 โดเมนนี้ ใครจำง่ายกว่ากัน “tnigomg.in.th” กับ “ThisNameIsGoodOhMyGod.in.th” คุณจะเลือกอันไหน 3.เมื่อได้ชื่อแล้ว ก็เลือกดอท ว่าจดดอทอะไรดี .com หรือ .co.th หรือ .in.th หรือ อื่น ๆ ไม่ว่าจะจดดอทอะไร เราก็สามารถมีลูกค้าได้ทั่วโลกเช่นเดียวกัน และเราอาจจะจดไว้มากกว่า 1 ดอท เพื่อดักความสับสนของผู้ใช้งานเอาไว้ การเลือกใช้ดอทท้องถิ่น เช่น .th ก็จะดีหากต้องการให้คนรู้ว่า เราเป็นธุรกิจไทย เนื่องจาก .th มีการตรวจสอบการมีตัวตนของเจ้าของโดเมน ซึ่งจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเว็บไซต์ด้วย 4.เข้าไปเช็คตามผู้ให้บริการของดอทนั้น ๆ ว่า ชื่อที่เราเลือกว่างอยู่หรือเปล่า ถ้าว่าก็จดเลยครับ อย่าช้าอยู่ แต่ถ้าไม่ว่าง ก็ให้ลองทำข้อต่อไปครับ 5.ให้เอาคำที่เลือกมาขยายด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น 5.1ใช้คำที่มีความหมายเหมือนหรือใกล้เคียงกัน แต่เปลี่ยนรูป เช่น แปลงเป็น คำนาม, คำกริยา, คำวิเศษณ์ .... เช่น Fly, Flight, Flew, Flyer 5.2เติมตัวเลขลงไปในคำ 5.3เติมคำนำหน้า เช่น The หรือ My 5.4เติมเครื่องหมายขีด “-“ ซึ่งเป็นอักขระพิเศษตัวเดียวที่สามารถอยู่ในโดเมนได้ ตรงนี้มีประเด็นอยู่นิดครับ คือ หากเรามุ่งเน้นให้คนจำชื่อเว็บเราได้และบอกต่อ ไม่ควรจะใส่ขีด เพราะคนส่วนใหญ่เวลาจดจำไปจะไม่ได้จำขีดไปด้วย ยิ่งกว่านั้น ถึงแม้จะจำได้ แต่เวลาบอกต่อไม่ได้บอกขีดไปด้วย ทำให้เกิดความสับสนขึ้นได้ แต่ที่กลับกันคือ “ขีด” จะมีผลดีในการช่วยแบ่งคำเพื่อให้ search engine เข้าใจถูกต้องมากขึ้น 5.5เช่นเดียวกันกับข้างบนครับ เมื่อจะต้องเติม S ควรพิจารณาดี ๆ เพราะ S จะยากสำหรับการบอกต่อเช่นกัน 6.สิ่งที่ต้องระวังในการตั้งชื่อคือตัวอักษรที่จะสร้างความสับสนเช่น O (โอ) และ 0 (ศูนย์) หรือ l (แอล), 1 (หนึ่ง) และ I (ไอ) ควรเลี่ยงตัวอักษรเหล่านี้ในบางตำแหน่งที่จะทำให้คนเข้าใจผิดได้ เช่น fun0.in.th แบบนี้จะทำให้ตัดสินใจยากว่า เป็นศูนย์หรือโอ 7.เมื่อได้คำใหม่แล้ว ก็ให้วนกลับไปทำตามข้อ 4 และทำไปเรื่อย ๆ หากชื่อที่ต้องการยังไม่ว่าง ต้องจำไว้นิดครับว่า “คนจะไม่จำ เพียงเพราะเราอยากให้เขาจำ” ฉะนั้นคงต้องสละเวลาพอสมควรในการคิดค้นชื่อ เริ่มต้นดีก็มีชัยไปกว่าครึ่งครับ นักธุรกิจหน้าใหม่ใช้ทุนต่ำ ๆ จะประสบความสำเร็จคงต้องลงทุนสมองเพื่อจะขึ้นมาอยู่ในชั้นแนวหน้าได้

ที่มา www.manager.co.th

Labels:

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home

Get Google Ads Free! / 30 Minute Backlinks! / Newbie Cash Machine!

Google